ปลูกผักกินเองกับเจ้าชายผัก ปลูกความสุขในบ้านด้วยมือของเรา

ปลูกผักกินเองกับเจ้าชายผัก ปลูกความสุขในบ้านด้วยมือของเรา

“การปลูกผักกินเองเป็นการสร้างสำนึกของคนร่วมกัน มีจิตสำนึกใหม่ร่วมกัน สร้างชุมชนที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เราอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตนเองได้ทั้งหมด แต่เป็นการส่งเสริมการพึ่งพาอาศัยกัน ที่สำคัญคือสามารถเลือกซื้อเลือกผักเองได้ รับรู้ความแตกต่างของผักที่ใช้สารเคมีกับไม่ใช้สารเคมี เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการปลูกกินเอง” คุณนคร ลิมปคุปตถาวร ผู้ก่อตั้ง ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก

การปลูกผักกินเอง คือแนวทางในการพึ่งพาตนเอง สร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ เพราะเป็นการปลูกเพื่อกินเองเราจึงเลือกและดูแลผักของเราเป็นอย่างดี เราจึงแน่ใจได้ว่าสิ่งที่เรากินนั้นดีและปลอดภัยที่สุด การปลูกผักกินเองเป็นสิ่งที่เราทุกคนทำได้ และเป็นการสนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางอาหารของไทยได้โดยเริ่มที่ตัวเราเอง ภายในครัวเรือนหรือภายในชุมชนของเรา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา กรีนพีซได้เปิดเผยรายงาน “20 ปี แห่งความล้มเหลว จีเอ็มโอกับคำสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ” โดยในงานนี้ยังมีเวิร์คช็อปการปลูกผักสำหรับคนเมือง โดย คุณนคร ลิมปคุปตถาวร หรือที่เรารู้จักกันในนาม “คุณปรินซ์-เจ้าชายผัก” พร้อมกับคำแนะนำดีๆ ในการปลูกผักกินเองที่ทุกคนสามารถทำได้ รวมถึงเคล็บลับง่ายๆ สไตล์เจ้าชายผักที่พร้อมเปลี่ยนนักกินผักอินทรีย์เป็นมือปลูกที่หันมาใส่ใจต่อตนเอง สิ่งแวดล้อม และสังคม เพียงแค่เริ่มจากการทำเรื่องง่ายๆ ที่บ้านได้เองอย่างการปลูกผัก

ปลูกผักอินทรีย์กินเอง ดีอย่างไร..?

การปลูกผักกินเองมีข้อดีมากกว่าความภูมิใจ โดยคุณปรินซ์-เจ้าชายผักได้กล่าวถึงข้อดีของการปลูกผักอินทรีย์กินเองว่า “ดีทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เสมือนมีซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ในบ้าน ได้อาหารที่เรามั่นใจในความปลอดภัย เนื่องจากเรารู้ถึงที่มา รู้กระบวนการผลิต และได้คุณภาพของผักอินทรีย์ที่สดกว่าที่ใด เพราะเดินทางมาน้อยกว่า มีทั้งพลังชีวิต และมีแร่ธาตุมากกว่า อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาและสร้างความสัมพันธ์ในสังคมอีกด้วย เมื่อทำอย่างใส่ใจจะนำเพื่อนมาเจอกัน เกิดสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูล”

ไม่ว่าใครก็สามารถเริ่มต้นปลูกผักกินเองได้ เพราะมีต้นทุนที่ถูก ใช้วัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และทำได้ในชีวิตประจำวัน “การลงมือทำเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด เพียงแต่เริ่มหยอดเมล็ดเพื่อทำการรู้จักต้นไม้ว่าเติบโตยังไง ต้นไม้จะปลูกเราไปด้วย นำพาให้เราใส่ใจมัน เราจะอยากเห็นพืชพรรณเติบโตงอกงาม ต่อจากนั้นเราจะเรียนรู้ว่าปัจจัยอะไรทำให้เติบโต และอาหารอะไรที่เราควรกินในฤดูกาลเช่นนี้ ในสภาพแวดล้อมแบบนี้” คุณปรินซ์กล่าวเสริม

สิ่งที่การปลูกผักอินทรีย์ได้สอนคนปลูกคือ การสังเกตข้อแตกต่างระหว่างผักอินทรีย์และผักเคมี คือ ผักที่ได้รับสารเคมีจะมีสีเขียวเข้มมาก ส่วนผักอินทรีย์จะมีสีเขียวอ่อนต้นแข็งแรงไม่อวบน้ำ โดยผักอวบน้ำจะใส่ปุ๋ยเคมีมาก เน่าเสียง่าย ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน มีเส้นใยน้อย แร่ธาตุที่ได้จากดิน และคุณค่าทางอาหารก็ย่อมลดลงไปด้วยเช่นกัน ซึ่งคุณปรินซ์เรียกคุณค่าทางอาหารจากผักอินทรีย์เหล่านี้ว่า “ธัญโอสถ” เป็นโอสถที่ได้มาจากการกลั่นกรองจากธรรมชาติเท่านั้น

ปลูกผักกินเอง สังคมสีเขียวที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ไม่ง้อจีเอ็มโอ

เจ้าชายผักได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับสวนผักคนเมืองในฐานะอาวุธที่ตอบโต้การคุกคามของจีเอ็มโอว่า สวนผักคนเมืองเป็นเรื่องของระบบอาหารในเมือง เป็นการพัฒนาคุณภาพทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต สังคมเมือง ไปถึงความเติบโตอย่างถาวร หรือวัฒนธรรมยั่งยืน (permaculture) ปรับเปลี่ยนเป็นเมืองที่ลดการพึ่งพาทรัพยากรภายนอก หันมาใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น (transition town) พึ่งพาตนเองทั้งในเรื่องอาหาร พลังงาน และอื่นๆ การปลูกผักกินเองเป็นการสร้างสำนึกของคนร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนกินหันมาเรียนรู้จากการปลูกผักกินเอง และรู้จักที่จะเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อตนเอง เมื่อนั้นเราจะเชื่อในจีเอ็มโอน้อยลง ยึดถือหลักการปลอดภัยไว้ก่อน และปฏิเสธจีเอ็มโอ

จากความรู้ที่สั่งสมมาทั้งจากการเรียนทั้งในและนอกตำรา และจากประสบการณ์จริง สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก ของคุณปรินซ์ โดยนอกจากการสอนเรื่องเทคนิควิธีทั้งการปลูก การทำปุ๋ย การทำน้ำยาไล่แมลงต่างๆ แล้ว ยังเน้นให้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการปลูกผักกินเอง  ความมั่นคงทางอาหาร และพลังชีวิตในอาหารด้วย “การให้คนเมืองมีความรู้คือทำให้ดู อยู่ให้เห็น หนทางแบบนี้ทำให้เรามีความสุขที่จะทำ เป็นการปลูกความสุขในบ้านเราเอง เพราะความเป็นปกติเป็นความสุข ความผิดปกตินำพาไปสู่ความทุกข์ต่างๆ” เจ้าชายผักกล่าวเสริม “จีเอ็มโอไม่ใช่เรื่องเฉพาะวิทยาศาสตร์ แต่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เศรษฐกิจ  สิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และอาหารการกิน เป็นความสำคัญทางปากท้อง และชีวิต ธรรมชาติมีอะไรให้ทำอีกเยอะแยะ ผมเองก็ทำไปเรียนรู้ไป อะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ผิดธรรมชาติ คงจะไม่ผิดที่จะเรียกว่า ‘อธรรม’ ”

จีเอ็มโอ คือภัยทำร้ายคนกินและความมั่นคงทางอาหาร

ผลกระทบของจีเอ็มโอนั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ แต่มักมีผลกระทบมากกว่าสิ่งที่ผู้ผลิตตั้งใจจะพัฒนา เมื่อเกิดขึ้นแล้วและเกิดการรั่วไหลปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม ก็จะไม่สามารถทำย้อนกลับได้ ดังนั้นสิ่งที่คุณปรินซ์ให้นิยามกับจีเอ็มโอไว้ คือ ความผิดปกติ ผิดธรรมชาติ และเป็นต้นเหตุของวิกฤตหลายด้าน เนื่องจากจีเอ็มโอเชื่อมโยงกับการลงทุนในการวิจัย การผลิต การแปรเปลี่ยนมาเป็นสินค้า การบริโภค เศรษฐกิจ วัฒนธรรม (เช่น การหายไปของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน) และสังคม “การจะเข้าคู่กันได้ของรหัสพันธุกรรมเป็นเรื่องของวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนาน บนพื้นฐานของสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นเราอาจสร้างมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อมเทียมได้ตั้งนานแล้ว การที่เราไปข้องแวะกับการเข้าคู่กันของรหัสพันธุกรรมเป็นสิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้ เราสามารถทำได้แต่เราทำย้อนกลับไม่ได้ เมื่อเราปล่อยไปในธรรมชาติจะเป็นความเสี่ยงอย่างมาก การเกษตรแบบธรรมขาติ คือการทำความเข้าใจกับธรรมชาติ แต่การเกษตรแบบควบคุมธรรมชาติคิดว่าสามารถออกแบบแก้ไขได้ทุกอย่าง ซึ่งเทคโนโลยีที่ดีไม่ควรไปริดรอนสิทธิทางธรรมชาติหรือสังคม และความรู้ทางพันธุศาสตร์ยังมีมุมมองที่รับผิดชอบและใส่ใจต่อธรรมชาติที่ทำได้มากกว่าและดีกว่าจีเอ็มโอ” คุณปรินซ์-เจ้าชายผัก กล่าวถึงความเสี่ยงจากการดัดแปลงพันธุกรรมพืชของจีเอ็มโอ

การเชื่อมโยงระหว่างคนปลูกกับคนกิน ทางออกเพื่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของไทย

การที่ผู้กินและผู้ปลูกรู้จักกัน นอกจากจะเป็นการเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างบทบาทของคนกินและคนปลูก เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับความปลอดภัยในอาหารของเราแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้คนกินใส่ใจในอาหารการกินมากขึ้น “Active citizen หรือ Active Consumer คือการเป็นพลเมืองหรือผู้บริโภคที่ใส่ใจนั้น เป็นฐานสำคัญของสังคมที่มีเกษตรนิเวศเป็นองค์ประกอบ บริบทใหม่ๆ อย่างการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างหรือดาดฟ้าเป็นแปลงผักทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับเกษตรกรมากขึ้นในเขตเมือง เกิดพื้นที่สีเขียวกินได้ เพราะเมืองที่เจริญที่แท้จริงต้องมีความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม” คุณปรินซ์กล่าว

เจ้าชายผักของเรายังเสริมถึงบทบาทของคนเมืองว่า “ปัจจุบันนี้คนไทยตระหนักเรื่องเกษตรอินทรีย์มากขึ้น กลายเป็นค่านิยมของคนรุ่นใหม่  พูดไปใครก็อยากได้เกษตรอินทรีย์ แต่ในทางกลับกันได้เกิดคำถามว่าผักเคมีใช้สารเคมีอะไร ใช่จีเอ็มโอหรือไม่ การเลือกของคนเมืองมีความหมาย การที่เราอยู่ปลายทางก็เหมือนต้นทางของผู้ผลิต การเลือกของเราไปกำหนดเป้าหมายของคนผลิต การปลูกผักกินเองจะเห็นชัดถึงขั้นตอนนี้ ว่าเราอยากกินอะไร เท่ากับว่าเราช่วยเลือกให้ผู้ผลิตทำทางนี้ ปัญหาตอนนี้คือ ผู้ผลิตกับผู้บริโภคไม่รู้จักกัน ต้องเข้าอกเข้าใจ เกื้อกูล เป็นวิถีตามธรรมชาติ เป็นกลไกที่ต้นไม้และสิ่งแวดล้อมก็ใช้เช่นกัน เป็นภาวะเกื้อกูลกันตามธรรมชาติ ถ้าไม่มีผู้บริโภคที่เข้าใจการผลิตระบบอาหารเกษตรอินทรีย์ก็เติบโตไม่ได้ ต้องอาศัยชุมชน สังคม ในบทบาทของตน ที่ช่วยสนับสนุนเกษตรอินทรีย์อย่างเข้าอกเข้าใจ นำความรู้มาใช้ศึกษาธรรมชาติ ไม่ใช่ทำลายธรรมชาติ”

การปลูกผักกินเอง คือการดำเนินแนวทางตามวิถีเกษตรอินทรีย์ หนทางสู่ความมั่นคงทางอาหารซึ่งเราทุกคนสามารถทำได้ นี่คืออธิปไตยทางอาหารที่แท้จริง ไม่เหมือนกับคำโฆษณาชวนเชื่อในการเลี้ยงคนทั้งโลก แต่กลับแฝงด้วยข้อเท็จจริงอย่างการผูกขาดทางลิขสิทธิ์ของเมล็ดพันธุ์อย่างจีเอ็มโอ เพียงแค่มีเมล็ดผักที่เราชอบ กระถางพร้อมดินสักหนึ่งกระถาง คุณก็สามารถเริ่มปลูกความสุขและปกป้องความมั่นคงทางอาหารของเราได้ไปพร้อมๆ กัน มาร่วมกันปลูกผักกันในวันนี้ เพื่อที่เราจะได้มีผักอร่อยๆ กินเองในวันนี้ และส่งเสริมให้ไทยมีผักพื้นบ้านอร่อยๆ กินตลอดไป!

ที่มา: http://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/57095/-agragr-agr-
[fbcomments url="http://54.254.250.208/knowledge/%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b9%e0%b8%81%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%b2/" width="375" count="off" num="3" title="แสดงความคิดเห็น" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save