ฮอร์โมนพืช (Plant hormones)
14Jul,16
ปกติแล้ว ฮอร์โมนพืช คือ สารที่พืชสามารถสร้างขึ้นเองได้ตามธรรมชาติที่อวัยวะหรือเนื้อเยื่อส่วนใดส่วนหนึ่งในปริมาณเพียงเล็กน้อยและลำเลียงไปยังเนื้อเยื่อเป้าหมายเพื่อส่งสัญญาณซึ่งมีผลควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตของพืช ฮอร์โมนพืชกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ออกซิน ( auxins) ไซโทไคนิน (cytokinins) จิบเบอเรลลิน ( gibberellins) เอทิลีน ( ethylene) และ กรดแอบไซซิก ( abscisic acid) จะมีบทบาทควบคุมการเจริญเติบโตของพืชในระยะต่างๆนับตั้งแต่การงอกของเมล็ด การเจริญเติบโต จนกระทั่งพืชนั้น ๆ เข้าสู่ภาวะเสื่อม และตายลงในที่สุด
สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชทั้ง 5 กลุ่มที่ได้กล่าวไปแล้วมีทั้งสารที่พืชสร้างได้เองและสารสังเคราะห์ แต่ยังมีสารควบคุมการเจริญเติบโตอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ สารชะละการเจริญเติบโตพืช (plant growth retardants) เป็นสารกลุ่มที่พืชไม่สร้าง แต่เป็นสารสังเคราะห์ที่มีผลชะลอการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตของพืชได้เช่นเดียวกับสารควบคุมการเจริญเติบโต
หน้าที่ของฮอร์โมนพืชแต่ละชนิด
1. ออกซิน ( auxins): แต่เดิมหมายถึงสารอินโดลทรีอะซิติกแอซิด ( indole-3-acetic acid หรือ IAA) ซึ่งเป็นฮอร์โมนพืชชนิดแรกที่พบ ส่วนใหญ่สร้างที่ยอด ใบอ่อน พบได้ที่ผลอ่อนและเมล็ดที่กำลังเจริญเติบโตด้วย มีผลกระตุ้นการยืดตัวของเซลล์ลำต้น การเกิดรากของกิ่งตัด การเจริญเติบโตของผล ควบคุมการเคลือนไหวของพืชต่อการตอบสนองต่อแสง แรงโน้มถ่วงของโลก ทำงานสัมพันธ์กับไซโทไคนินในการส่งเสริมการเจริญของตายอดและยับยั้งการเจริญของตาข้าง ปัจจุบัน พบสารในพืชและสารสังเคราะห์อีกหลายชนิดที่มีฤทธิ์ทางชีววิทยาคล้ายออกซิน จึงจัดสารเหล่านั้นอยู่ในกลุ่มออกซินด้วย
2. ไซโทไคนิน (cytokinins): สารอินทรีย์ที่เป็นฮอร์โมนพืช เช่น ซีเอทิน ( zeatin) ส่วนใหญ่สร้างที่รากแล้วลำเลียงไปยังส่วนต่างๆของพืชในเอมบริโอ และใบอ่อนก็พบว่าสร้างได้เช่นกัน มีผลกระตุ้นการแบ่งเซลล์ และทำงานร่วมกับออกซินในการควบคุมการเจริญเติบโตของตาข้าง และ ควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อพืชที่เลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อให้เจริญเป็นยอด
3. จิบเบอเรลลิน (gibberellins): กลุ่มของสารที่เป็นฮอร์โมนพืชที่สร้างที่ปลายยอด ใบอ่อนและราก รวมทั้งในเมล็ด มีผลส่งเสริมการยืดตัวของลำต้น กิ่ง ก้าน กระตุ้นการงอกของเมล็ด การเจริญเติบโตของผล และควบคุมการเกิดเพศของดอกในพืชบางชนิด
4. เอทิลีน (ethylene): เป็นฮอร์โมนพืชชนิดเดียวกับแก๊ส สร้างโดยเนื้อเยื้อส่วนต่าง ๆ ทั่วไปแต่จะสร้างมากเมื่อพืชได้รับบาดแผล พืชเข้าสู่ภาวะเสื่อม และผลไม้ที่กำลังสุก มีผลเร่งภาวะเสื่อม การร่วงโรย และกระตุ้นการออกดอกในพืชวงศ์สับปะรด เอทิลีน
5. กรดแอบไซซิก (abscisic acid): เป็นฮอร์โมนพืชที่สร้างได้ในเกือบทุกส่วนของพืช มีผลยับยั้งการเจริญเติบโต โดยมักทำงานให้ผลตรงข้ามกับฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโตอื่น ๆ หน้าที่หลัก ได้แก่ การทำให้เมล็ดพักตัวไม่งอก ทำให้ปากใบปิดเมื่อพืชอยู่ในภาวะเครียดจากการขาดน้ำ ช่วยให้พืชทนแล้ง
6. สารชะลอการเจริญเติบโตของพืช (Plant growth retardants): สารอินทรีย์ที่เมื่อใช้ในปริมาณน้อยหรือความเข้มข้นต่ำมาก ๆ มีผลชะลอแต่ไม่ถึงกับยับยั้งการแบ่งเซลล์ การยืดตัวของเซลล์ ส่งผลต่อการเติบโตด้านความสูงของพืชโดยไม่ทำให้การเจริญ เติบโตของใบและส่วนอื่นๆของลำต้นผิดปกติไป แต่มักพบว่าพืชมีใบสีเขียวเข้มขึ้น สะสมอาหารมากขึ้นและมีผลกระทบต่อการออกดอกโดยอ้อม แต่ไม่มีผลต่อขนาดของดอก สารกลุ่มนี้จัดเป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชด้วยแต่เป็นสารสังเคราะห์ทั้งหมด
แหล่งข้อมูล: คู่มือการสอนวิชาชีววิทยาโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย (http://www.phukhieo.ac.th)
สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ( plant growth regulators) เป็นสารอินทรีย์ที่ครอบคลุมทั้ง ฮอร์โมนพืช (plant hormones) และสารสังเคราะห์ที่มีผลคล้ายฮอร์โมนพืช สารดังกล่าวมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของพืช ซึ่งอาจทำได้ทั้งด้วยการกระตุ้น ยับยั้ง หรือเปลี่ยนแปลงการ เจริญเติบโต โดยเมื่อใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย หรือ ที่ความเข้มข้นต่ำมาก ๆ เช่น 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ก็ สามารถแสดงผลต่อพืชได้