ลูกเดือย สรรพคุณ และการปลูกลูกเดือย

Sorry, this entry is only available in Thai. For the sake of viewer convenience, the content is shown below in the alternative language. You may click the link to switch the active language.

ลูกเดือย (Job’s tears) จัดเป็นธัญพืชในพืชตระกูลหญ้าที่นิยมปลูกมากในภาคอีสาน เนื่องจากนิยมนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิ น้ำลูกเดือย ใส่น้ำเต้าหู้ แปรรูปเป็นแป้งทำขนม และอื่นๆ จึงถือเป็นธัญพืชที่นิยมรับประทานเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งมีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ถึงสรรพคุณที่สามารถต้านเซลล์มะเร็งอย่างได้ผล >> วงศ์: Gramineae/Poaceae >> ตระกูล: Andropogoneae >> สกุล: Coix >> จำนวนโครโมโซม 2n = 20 >> ชื่อวิทยาศาสตร์: Coix lacryma-jobi Linn. Coix มีฐานศัพท์ดั้งเดิมมาจากภาษากรีก หมายถึง พืชที่มีดอกเป็นช่อคล้ายพวงหรีด >> ชื่อสามัญ: – Job’s tears – Coix – Hatomogi – Pearl Barley – Adlay >> ชื่อท้องถิ่น : – ลูกเดือย (ทุกภาค) ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  ลำต้น ลูกเดือยเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีลักษณะลำต้นเหมือนกับหญ้าทั่วไป คือ มีลำต้นทรงกลม และตั้งตรง ลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน สูงประมาณ 1-3.5 เมตร ลำต้นเป็นข้อปล้อง มีใบแตกออกบริเวณข้อ ผิวลำต้นเรียบเป็นสีเขียวอมเทา และมีนวลขาวปกคลุม เมื่อลำต้นเริ่มตั้งต้นได้หรือมีอายุตั้งแต่ 2 เดือนแล้ว ก็จะจะแตกลำต้นหรือเหง้าเพิ่มเป็น 4-5 ลำต้น ใบ ใบลูกเดือย มีลักษณะเป็นแผ่นเรียวยาว สีเขียวสด แผ่นใบด้านล่างมีสีจางกว่า ประกอบด้วยกาบใบที่หุ้มลำต้น ถัดมาเป็นโคนใบที่เป็นหยัก และต่อมาเป็นแผ่นใบ ขนาดประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-45 เซนติเมตร ปลายใบแหลม แผ่นใบมีเส้นกลางใบชัดเจน ขอบใบเรียบ และมีความคม บาดมือได้ง่าย ดอก ดอกลูกเดือยแทงออกเป็นช่อตรงปลายยอดของลำต้นคล้ายกับดอกของหญ้าทั่วไป มีช่อดอกยาว 3-8 เซนติเมตร ดอกแบ่งเพศกันอยู่คนละดอกแต่อยู่บนช่อดอกเดียวกัน จำนวนดอกต่อประมาณ 10-20 ดอก หรือมากกว่า แต่ดอกทั้ง 2 ชนิด มักบานไม่พร้อมกันจึงมักทำให้มีการผสมเกสรข้ามต้นกัน ดอกลูกเดือยแต่ละดอกจะมีลักษณะเป็นกระเปราะที่มีเปลือกหุ้ม ซึ่งต่อมาจะพัฒนากลายเป็นผล หรือเมล็ด โดยดอกลูกเดือยตัวเมียจะมีก้านเกสรสีแดงคล้ำ 2 อัน ซึ่งจะยื่นโผล่ออกมาให้เห็นจากส่วนปลายของกระเปาะสำหรับรับการผสมละอองเกสรตัวผู้ ส่วนดอกตัวผู้แต่ละช่อจะมีประมาณ 10 ดอก ซึ่งจะมีรูปร่างสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน แต่จะค่อนข้างเรียวยาว ขนาดดอกยาว 7-8 เซนติเมตร ตัวดอกประกอบด้วยกาบดอกชั้นนอก 2 อัน ถัดมาภายในจะเป็นกลีบดอก 1 อัน และ และอับเกสร 3 อัน ผล และเมล็ด ผลของลูกเดือยจะเรียกว่า ผลปลอม เพราะมีเฉพาะเมล็ดที่อยู่ด้านใน ซึ่งจะประกอบด้วยเปลือกหุ้มเมล็ดสีน้ำตาล เปลือกหุ้มนี้ค่อนข้างบาง แต่แข็งติดกับเมล็ด ถัดมาด้านในสุดจะเป็นเมล็ดที่มีลักษณะรูปหัวใจ ซึ่งจะมีร่องเว้าตรงกลางของเมล็ด ขนาดกว้าง และยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย ลูกเดือย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเทือกเขาหิมาลัย โดยแพร่เข้าสู่ประเทศแถบยุโรปผ่านทางชาวอาหรับ และแพร่เข้าสู่เอเชียตะวันออกผ่านทางชาวจีน ปัจจุบันพบการปลูกทั่วโลกในแถบประเทศอบอุ่น ส่วนประเทศไทยพบการปลูกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2503 ที่เขตนิคมสร้างตนเองของ จ.สระบุรี ลพบุรี และนครราชสีมา และในช่วงปี พ.ศ. 2513 ได้แพร่ไปยัง จ.ชัยภูมิ และเลย จนถึงภาคเหนือในปี พ.ศ. 2523 ปัจจุบันพบปลูกมากในภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเลยที่ปลูกมากเป็นอันดับหนึ่งจากพื้นที่ปลูกทั้งหมดในประเทศ บริเวณอำเภอภูหลวง วังสะพุง และอำเภอเมือง ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งออกต่างประเทศ ชนิดของลูกเดือยตามรูปร่างเมล็ด 1. Typical : เมล็ดมีลักษณะทรงกลม ค่อนข้างรี ออกรูปไข่ ผิวเมล็ดเรียบ แต่แข็ง เปลือกเมล็ดมีสีฟ้าอมขาว ผิว 2. Stenocarpa : เมล็ดมีมีลักษณะกลม และรียาว ซึ่งจะรีมากกว่าชนิด Typical ส่วนผิวเปลือกจะคล้ายกัน 3. Monilifer : เมล็ดมีลักษณะกลม และมีรูปแบน ส่วนผิวเปลือกจะมีสีขาวขุ่นคล้ายสีน้ำนม หรืออาจพบเป็นสีชมพู สีน้ำตาล และสีดำ เมล็ดลูกเดือยชนิดนี้ ไม่นิยมรับประทาน แต่ส่วนใหญ่จะใช้ประโยชน์อย่างอื่น อาทิ ใช้ร้อยเป็นสร้อยคอ 4. Ma-yuen : เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างยาว และมีร่องที่ผิวเปลือกตามแนวยาว เปลือกมีสีขาวขุ่นถึงสีน้ำตาล และบางมาก เมล็ดลูกเดือยชนิดนี้นิยมนำมารับประทานเช่นกัน ชนิดของลูกเดือยในประเทศไทย 1. ลูกเดือยหิน เป็นชนิดลูกเดือยที่พบมากในภาคเหนือ โดยเฉพาะบนภูเขาสูง ลำต้นไม่สูงมาก เป็นชนิดลูกเดือยที่ไม่นำมารับประทาน เนื่องจากมีแป้งน้อย เปลือก และเนื้อเมล็ดแข็งมาก ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อทำเครื่องประดับ เนื่องจากเปลือกมันวาว และมีหลายสี 2. ลูกเดือยหินขบ เป็นลูกเดือยที่พบปลูกในทางภาคเหนือ ลำต้นสูงประมาณ 2 เมตร เป็นชนิดเดือยที่รับประทานได้ แต่นิยมรับประทานเฉพาะในท้องถิ่น เมล็ดลูกเดือยมีรูปร่างกลม ขนาดเมล็ดใหญ่ ประมาณ 10-12 มิลลิเมตร เปลือก และเนื้อเมล็ดแข็งปานกลาง เมล็ดมีสีน้ำตาลอมเทา 3. ลูกเดือยทางการค้า เป็นชนิดลูกเดือยที่ปลูก และนิยมรับประทานกันในปัจจุบัน มีลักษณะเมล็ดคล้ายข้าวสาลี ขนาดเมล็ด 8-12 มิลลิเมตร มีเปลือกบาง สีขาวขุ่นหรืออมสีน้ำตาล เมล็ดมีร่องตามแนวยาว แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ – ลูกเดือยข้าวเหนียว (glutinous type) ลูกเดือยชนิดนี้มีลำต้นสีเขียวอมเหลือง และลำต้นเตี้ยกว่าลูกเดือยข้าวเจ้า เมล็ดมีลักษณะกลม ค่อนข้างป้อม และสั้น มีสีเทาอ่อน ซึ่งจะมีขนาดเมล็ดใหญ่กว่าเดือยข้าวเจ้า เปลือกเมล็ดบาง และปริแตกง่ายกว่าเมล็ดเดือยข้าวเจ้า เมื่อต้มจะให้แป้งสุกที่เหนียวลื่น และเป็นเมือก คล้ายกับแป้งข้าวเหนียว เมล็ดลูกเดือยชนิดนี้ มักแตกหักง่ายขณะสีเปลือก แต่เป็นชนิดที่นิยมรับประทานมากที่สุด – ลูกเดือยข้าวเจ้า (nonglutinous type) ลูกเดือยชนิดนี้ลำต้นจะมีขนาดใหญ่กว่าเดือยข้าวเหนียว และมีนวลขาวปกคลุม ลูกเดือยชนิดนี้มีรูปค่อนข้างยาว และมีขนาดผลเล็ก เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม เปลือก และเนื้อเมล็ดค่อนข้างแข็ง เมื่อต้มสุกจะให้แป้งที่ไม่เหนียว และไม่เป็นเมือกเหมือนชนิดแรก เมล็ดลูกเดือยชนิดนี้ ไม่แตกหักง่ายขณะสีเปลือก ที่มา : 4) ประโยชน์ลูกเดือย 1. ลูกเดือยนิยมนำมาต้มรับประทานคู่กับน้ำกะทิ และน้ำตาล รวมถึงนิยมต้มสุกเพื่อนำไปผสมกับเครื่องดื่มอื่นๆ อาทิ น้ำเต้าหู้ เป็นต้น 2. ลูกเดือยนำมาแช่น้ำ และนำไปหุงพร้อมกับข้าวสวยรับประทาน 3. ลูกเดือยนิยมใช้ทำแป้งลูกเดือยสำหรับทำขนมของหวาน 4. ลูกเดือยใช้เป็นส่วนผสมของอาหารเสริมสำหรับบำรุงสุขภาพ 5. เมล็ดลูกเดือยนำมาตากแห้ง ก่อนบดเป็นผงชงเป็นชาหรือน้ำเมล็ดธัญพืชดื่ม 6. สารสกัดจากลูกเดือย โดยเฉพาะ coxenolide ใช้เป็นส่วนผสมทางยาสำหรับต้านเซลล์มะเร็ง 7. ลูกเดือยใช้เป็นส่วนผสมในอาหาสัตว์หรือใช้เลี้ยงสัตว์ 8. ลูกเดือยหินใช้ทำเครื่องประดับ อาทิ ห้อยร้อยเป็นสร้อยข้อมือ ตกแต่งบ้าน ตกแต่งเสื้อผ้าเนื่องจากเปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง เป็นมันวาว และมีหลายสี คุณค่าทางโภชนาการของลูกเดือย – โปรตีน 17.58 % – ไขมัน 2.03 % – คาร์โบไฮเดรต 51.58% – ซิลิคอนไดออกไซด์ 0.1% – แคลเซียม 0.04% – แมกนีเซียม 0.06% – โซเดียม 0.006% – โปรแตสเซียม 0.14% – ฟอสฟอรัส 0.15% กรดไขมัน ได้แก่ – Palmitic Acid 14.6-15.8% – Stearic acid 1.1-1.7% – Oleic acid 49.3-59% – Linoleic acid 22.7-33.7% – Linoleic acid เล็กน้อย ที่มา : 3) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ สาระสำคัญที่พบ ผลลูกเดือย – coxenolide (ยับยั้งเซลล์มะเร็ง และลดไขมันคอเลสเตอรอล) – Coixol – 1,2-ethanediol – 1,2-propanediol – 1,3-propanediol – 1,3-butanediol – 1,4-butanediol – 2,3-butanediol รากลูกเดือย – Lignin – Coixol – Palmitic Acid – Stearic Acid – Stigmeaterd – B-Sitosterol – แป้ง และน้ำตาล ที่มา : 1), 3) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ สรรพคุณลูกเดือย ผลหรือลูกเดือย – ลูกเดือย เป็นธัญพืชที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งพลังงาน โปรตีน และวิตามิน ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต และช่วยให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ – ลูกเดือยมีฟอสฟอรัสสูง ช่วยบำรุงกระดูก – ลูกเดือยมีมีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสายตา – ลูกเดือยมีวิตามิน B1 ช่วยแก้อาการเหน็บชา – ลูกเดือยมีคาร์โบไฮเดรตสูง ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย และช่วยให้คนไข้พักฟื้นตัวได้เร็ว – ต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง ยับยั้งเนื้องอก – ช่วยบำรุงผิวพรรณ ป้องกันผิวหยาบแห้ง – ช่วยแก้ร้อนใน – ช่วยลดอาการเป็นไข้ ลดอาการปวดหัว – ช่วยบำรุงอวัยวะภายใน อาทิ ตับ ไต กระเพาะอาหาร และม้าม – ช่วยบำรุงเลือดในสตรีหลังคลอดใหม่ – ช่วยรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน – ช่วยแก้อาการท้องร่วง – ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหาร และลำไส้ – ช่วยแก้อาการบวมน้ำ – ช่วยแก้อาการปวดข้อเรื้อรัง – ช่วยในการย่อยอาหาร – ช่วยบำรุงเส้นผม และผิวหนัง – แก้อาการเหน็บชา – แก้อาการกล้ามเนื้อชักกระตุก – รักษาการตกขาวผิดปกติในสตรี – แก้อาการหลอดลมอักเสบ – ช่วยลดน้ำคั่งในปอด – แก้ฝีในลำไส้ – ช่วยรักษาอาการเอ็นตึงรั้ง – รักษาโรครูมาติซึม – ใช้รักษาวัณโรค – ช่วยในการขับเลือด ขับหนอง – ใช้รักษาโรคหูด ใบ และลำต้น – ใบใช้ชงเป็นยาดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ – นำทั้งต้น และใบมาต้มน้ำอาบ ช่วยแก้โรคผิวหนัง ลดอาการผื่นคัน – แก้ปัสสาวะเหลืองขุ่น รากลูกเดือย (มีรสขมเล็กน้อย) – การหมุนเวียนของเลือดที่ผิวหนัง – ช่วยบำรุงเส้นผม ทำให้ดำดก – น้ำต้มช่วยขับปัสสาวะ – ช่วยแก้ไข้ – ช่วยขับพยาธิ – แก้อาการดีซ่าน – แก้อาการบวมน้ำ – แก้โรคหนองใน – แก้ข้อเข่าเสื่อม ลดอาการปวดตามข้อต่างๆ – แก้อาการตกขาว – กระตุ้นประจำเดือนให้มาปกติ ที่มา : 1), 2), 3) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ ฤทธิ์สำคัญทางยาที่พบ – กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน : ส่วนที่ใช้ คือ ผล – ขับปัสสาวะ : ส่วนที่ใช้ คือ ราก และใบ – ลดอุณหภูมิในร่างกาย : ส่วนที่ใช้ คือ สาร Coixenolide – ฤทธิ์ต้านการอักเสบจากการติดเชื้อ : ส่วนที่ใช้ คือ ราก – ต้านการอักเสบที่ผิวหนัง : ส่วนที่ใช้ คือ ราก – ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง ส่วนที่ใช้ คือ สาร Coixenolide ในผล – ลดความดันโลหิต : ส่วนที่ใช้ คือ ผล – ใช้เป็นยานอนหลับ และระงับอาการปวด : ส่วนที่ใช้ คือ ราก – ลดน้ำตาลในเลือด : ส่วนที่ใช้ คือ สาร Coixan A.B,C ในผล – ยับยั้ง Trypsin : ส่วนที่ใช้ คือ ผล – ฤทธิ์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ : ส่วนที่ใช้ คือ ราก – ลดโคเลสเตอรอล : ส่วนที่ใช้ คือ ผล – กระตุ้นการเจริญ และตกไข่ในสตรี : ส่วนที่ใช้ คือ ผล – กระตุ้นการสร้างอสุจิ : ส่วนที่ใช้ คือ ผล – ขับพยาธิในเด็ก : ส่วนที่ใช้ คือ ราก – ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา : ส่วนที่ใช้ คือ ราก ใบ และลำต้น – บำรุง และกระตุ้นการงอกของผม : ส่วนที่ใช้ คือ ราก – เป็นพิษต่อเม็ดเลือดขาว : ส่วนที่ใช้ คือ เปลือกเมล็ด เพิ่มเติมจาก : 4) การปลูกลูกเดือย ลูกเดือยเป็นพืชไร่ที่เติบโตได้ดีในพื้นที่ดอนหรือพื้นที่ที่มีความลาดชัน พื้นที่มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขังหรือดินชื้นแฉะง่าย การปลูกนั้นจะใช้วิธีการปลูกด้วยเมล็ดเพียงอย่างเดียว ด้วยการหว่านเมล็ดลงบนแปลง ซึ่งจะหว่านในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนา และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกลูกเดือยชื่อพันธุ์ เดือยข้าวเหนียวพันธุ์เลย ซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองถึงร้อยละ 11 ลักษณะลูกเดือยข้าวเหนียวพันธุ์เลยกับพันธุ์พื้นเมือง 1. ความสูง 196 เซนติเมตร ในขณะที่พันธุ์พื้นเมืองสูง 203 เซนติเมตร 2. ทรงพุ่มกว้าง ในขณะที่พันธุ์พื้นเมืองทรงพุ่มแคบ 3. ดอกออกทุกซอกใบ เหมือนกับพันธุ์พื้นเมือง 4. จำนวนแขนงประมาณ 11 แขนง/กอ เท่ากัน 5. เมล็ด 609 ต่อกอ ขณะที่พันธุ์พื้นเมือง 546 ต่อกอ 6. น้ำหนัก 100 เมล็ด 15.7 กรัม ขณะที่พันธุ์พื้นเมือง 15.6 กรัม 7. ร้อยละหลังการกะเทาะ 55.6 ส่วนพันธุ์พื้นเมืองร้อยละ 49.2 8. ผลผลิตต่อปี 299 กก./ไร่ ส่วนพันธุ์พื้นเมือง 266 กก./ไร่ 9. น้ำหนักหลังกะเทาะ 167 กก./ไร่ ส่วนพันธุ์พื้นเมือง 133 กก./ไร่ ที่มา : 4) การเตรียมแปลง การปลูกเพื่อการค้า เกษตรกรนิยมปลูกในพื้นที่ไร่บนแปลงใหญ่ ซึ่งจะต้องเตรียมแปลงคล้ายกับการปลูกพืชไร่ทั่วไป คือ ให้ไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืช 1 รอบ พร้อมตากดินนานอย่างน้อย 10-15 วัน วิธีการปลูกลูกเดือย การปลูกสามารถปลูกได้ทั้งวิธีการหว่านเมล็ด และการหยอดเมล็ด แต่ทั่วไปจะใช้วิธีการหยอดเมล็ด เพราะหารหว่านจะควบคุมระยะห่างยาก และลำต้นของลูกเดือยแตกแขนงเป็นกอได้กว้าง การหยอดเมล็ดจะใช้วิธีการไถคราดให้เป็นร่องตามยาวก่อน พร้อมโรยด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30-50 กิโลกรัม/ไร่ และหลังหยอดเมล็ดแล้วค่อยคราดกลบร่อง โดยมีระยะห่างของร่องหรือแถวประมาณ 75 เซนติเมตร จากนั้น จะหยอดเมล็ดเป็นหลุมๆหรือจุดๆ หลุมละ 5-6 เมล็ด แต่ละจุดห่างกันประมาณ 75 เซนติเมตร หลังจากที่เมล็ดงอกแล้วประมาณ 1 เดือน จึงถอนต้นลูกเดือยให้เหลือ 3-4 ต้น การให้น้ำ หลังจากหยอดเมล็ดแล้วก็จะปล่อยให้เมล็ดงอก และเติบโตตามธรรมชาติ โดยอาศัยเพียงน้ำฝนตามฤดูก็เพียงพอ การใส่ปุ๋ย หลังการถอนต้นแล้ว ประมาณ 1 เดือน (เดือนที่ 2) ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-24 หรือสูตร 15-15-15 ในอัตราเดียวกันในตอนรองพื้น โดยจะใส่พร้อมกับการกำจัดวัชพืช การกำจัดวัชพืช ในช่วงที่เริ่มทำการถอนต้นลูกเดือยทิ้ง ให้กำจัดวัชพืชด้วยการใช้จอบถากไปพร้อมด้วย ผลผลิต หลังจากที่ดอกเริ่มออกประมาณเดือนตุลาคม ลูกเดือยก็จะเริ่มติดเมล็ด และจะเริ่มแก่พร้อมเก็บเมล็ดได้ประมาณกลางเดือนธันวาคม-มกราคม ซึ่งจะสังเกตได้จากลำต้น และใบเหลือง และเริ่มแห้งแล้ว วิธีเก็บเมล็ดนั้น เกษตรกรจะนิยมใช้มีดหรือเคียวตัดลำต้นเดือยทั้งต้น และแบกมากองรวมกันเป็นชั้นบนผ้าตาข่ายหรือผ้าลาน และตากเมล็ดให้แห้งนาน 2-3 วัน ก่อนจะใช้เครื่องนวดแยกเมล็ดออก ก่อนจะนำเมล็ดส่งโรงงานรับซื้อ ความคุ้มทุน สำนักงานเกษตร จังหวัดเลยได้รายงานความคุ้มทุนในการปลูกลูกเดือยของเกษตรกรพบว่า เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตต่อไร่ประมาณ 3,360 บาท หลังจากเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตประมาณ 600 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนราคารับซื้อขณะนั้นประมาณ 15 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจะขายได้เงินประมาณ 9,000 บาท/ไร่ คำนวณแล้วจะได้กำไรประมาณ 5,640 บาท/ไร่ ทั้งนี้ ราคารับซื้ออาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แหล่งที่มา: http://puechkaset.com/ลูกเดือย/
[fbcomments url="http://54.254.250.208/en/knowledge/%e0%b8%a5%e0%b8%b9%e0%b8%81%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%a2-%e0%b8%aa%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%9e%e0%b8%84%e0%b8%b8%e0%b8%93-%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b8%b0%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%9b/" width="375" count="off" num="3" title="Comments" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save