ลูกหม่อนกินผล อีกหนึ่งพืชเพื่อสุขภาพกระแสแรง

Sorry, this entry is only available in Thai. For the sake of viewer convenience, the content is shown below in the alternative language. You may click the link to switch the active language.

เมื่อโลกยุคใหม่และเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากเท่าใดก็ดูเหมือนว่าสุขภาพของเราจะแย่ลงมากขึ้นจากการใช้ชีวิตที่ติดกับเทคโนโลยีที่รอบข้างมีแต่มลพิษ สารพิษ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและแสวงหาธรรมชาติกันมากขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บรรดาพืชเพื่อสุขภาพทั้งหลายกลายมาเป็นพืชที่อยู่ในกระแสความสนใจของคนยุคปัจจุบัน เฉกเช่นเดียวกับ คุณวิชิต ศิริวารินทร์ (แดง) ที่มองเห็นความสำคัญของสุขภาพจนยอมทิ้งชีวิตในเมืองเพื่อสานฝันสู่การทำสวนปลูกพืชที่ตัวเองอยากทานเพื่อสุขภาพที่ดี “ผมและแฟนรักและใฝ่ฝันอยากมีสวนเป็นของตัวเอง อยากมีบ้านเล็กๆที่ล้อมรอบด้วยพืชพรรณนานาชนิด จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำสวน เราเริ่มต้นศูนย์จนพืชที่ปลูกเริ่มเห็นผลตอบแทน หลายคนมาดูความสำเร็จของเราอย่างชื่นชม และต่างบอกว่าเรา “เฮ็ดดี” ผมว่าชื่อนี้ความหมายดีนะ จึงเป็นที่มาของชื่อสวนเฮ็ดดี ภาษาอีสาน แปลว่า ทำดี ซึ่งมันเกิดขึ้นจากความตั้งใจและทุ่มเทของเราจริงๆ ” วันนี้พืชหลายชนิดในสวนเฮ็ดดีให้ผลผลิตน่าชื่นใจจนไม่น่าเชื่อว่า มันเริ่มต้นจากผืนดินที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลยนอกจากหญ้าที่รก ร้าง คุณวิชิตเล่าให้เราฟังว่า เดิมเขาทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นดีไซส์เนอร์ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และหันหลังให้กับเมืองหลวงเพื่อมาสานฝันกับการสร้างสวนของตัวเองที่ จ.อุดรธานี บ้านเกิด คุณวิชิตบอกว่าครอบครัวของเขาเป็นเกษตรกร พืชที่เขามาทั้งชีวิตจนถึงวันนี้ก็มีแต่ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ซึ่งเขามองว่ามันไม่มีความมั่นคงเพราะเป็นพืชล้มลุกที่ต้องเหนื่อยกับการปลูกใหม่ ซ้ำๆอยู่ตลอด ต้องลงทุนใหม่ทุกครั้ง เขาจึงมองหาพืชที่มีความถาวรเพื่อลดค่าใช้จ่ายและภาระในการลงทุนปลูกใหม่อยู่ตลอด เขามองเห็นความสุขจากการได้มานั่ง นอน กินผลไม้ในสวนของเขาเอง คุณวิชิตค้นข้อมูลพืชชนิดต่างๆ สุดท้ายมาลงตัวที่ หม่อนกินผล ด้วยความที่เป็นพืชในกระแส อีกทั้งยังได้แนวคิดจากการที่เห็นรอบข้างจากไปด้วยโรคร้ายต่างๆ เขาจึงมุ่งเป้าไปที่พืชเพื่อสุขภาพ มีสรรพคุณในด้านบำรุงร่างกาย ป้องกันและรักษาโรค และหม่อนก็มีคุณสมบัติตามนั้น หม่อนเป็นพืชสมุนไพรทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศยอมรับ ช่วยบำรุงสมอง ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง บำรุงสายตา ใช้เพื่อแก้อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย หูอื้อ ผมหงอกก่อนวัย คอแห้งกระหายน้ำ ช่วยให้นอนหลับ ช่วยขับเสมหะ นอกจากทานผลสดแล้วหม่อนยังสามารถนำมาแปรรูปได้หลายอย่างเพื่อลดความเสี่ยงด้านการตลาดได้ด้วย นอกจากนี้หมื่อนยังเป็นพืชที่ให้ผลที่สวยงาม ปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อสร้างความสุขได้อย่างดีอีกด้วย คุณสมบัติดีมากมายขนาดนี้หม่อนจึงเป็นพืชพระเอกของสวนเฮ็ดดี พืชหลายชนิดรวมทั้งหม่อนถูกนำมาปลูกท่ามกลางความแห้งแล้งของฤดูร้อน ซึ่งหม่อนก็เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดี หม่อนจึงเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดีอีกพืชหนึ่ง หม่อนชุดแรกที่ปลูกจำนวน 200 ต้น เป็นพันธุ์เชียงใหม่ 80 กับ กำแพงแสน ซึ่งคุณวิชิตบอกว่า พันธุ์เชียงใหม่มีจุดเด่นตรงที่เจริญเติบโตเร็ว ส่วนพันธุ์กำแพงแสนผลจะใหญ่กว่า ให้ผลผลิตมากกว่า สำหรับการดูแลหม่อนนั้น คุณวิชิตบอกว่า หม่อนเป็นพืชที่ดูแลง่ายมากๆ ที่สวนจะใส่ปุ๋ยเดือนละครั้ง ใส่สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 หว่านบางๆรอบโคนตันๆละ 2 กำมือ และมีการให้ปุ๋ยคอกอยู่เป็นประจำเพื่อปรับสภาพโครงสร้างของดินด้วย น้ำก็รดตามสภาพอากาศโดยดูจากสภาพดินประกอบ ดีที่หม่อนใช้น้ำน้อยและทนแล้งได้ดี จึงปลูกให้ผลผลิตได้ดีในพื้นที่แห้งแล้งของอีสาน แต่ถ้าหม่อนได้รับน้ำที่เพียงพอการเจริญเติบโตก็จะดีกว่าและให้ผลผลิตสูงขึ้น ข้อดีอีกอย่างของหม่อน ก็คือ สามารถบังคับผลผลิตได้ด้วยการตัดแต่งกิ่ง จากนั้นเด็ดใบออกให้หมดทั้งต้น รดน้ำทุกวัน ไม่กี่วันยอดจะผลิออกมาพร้อมกับผลเล็กๆ ประมาณ 1 เดือน ก็สามารถเก็บผลขายได้แล้ว หลังปลูกไม่นาน 3-4 เดือนหม่อนก็จะผลิดอกและติดผลแล้ว แต่จะเริ่มเก็บได้มากขึ้นเมื่ออายุประมาณ 1 ปี จากข้อมูลการให้ผลผลิตของหม่อนจะให้ผลผลิตผลสดไม่ต่ำกว่า 1,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี ซึ่งผลผลิตที่ผ่านมายังมีปริมาณไม่มากนักและไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยคุณวิชิตนำมาจำหน่ายที่กรุงเทพฯ ในราคา กก.ละ 200 บาท โดยจะแพ็คเป็นกล่องๆละ 250 กรัม สำหรับหม่อนคุณวิชิตค่อนข้างมั่นใจกับศักยภาพด้านการตลาดเนื่องจากหมื่อนแปรรูปได้หลากหลาย ทั้งแยม เยลลี่ ลูกอม ไวน์ ชา และน้ำผลไม้ ทำให้คุณวิชิตเตรียมขยายปลูกเพิ่มโดยตั้งเป้าไว้ที่ 3,000 ต้น นอกจากผลสดแล้ว ตอนนี้กระแสหม่อนมาแรงมาก จึงทำให้กิ่งพันธุ์หม่อนขายดิบขายดีมาก มีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้นเพื่อป้อนตลาดคนรักสุขภาพที่เติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใครที่สนใจกิ่งพันธุ์คุณภาพดี ราคาไม่แพงก็ติดต่อได้ค่ะ ถ้าเป็นกิ่งชำราคา 50 บาท แต่ถ้าเป็นกิ่งตัดให้ลูกค้าไปปลูกเองก็ราคาเพียง 20 บาท นอกจากหม่อนแล้ว ในสวนเกษตรเฮ็ดดียังมีพืชอีกหลายชนิด ทั้งองุ่น กล้วย ไผ่ กาแฟ มะนาว มะม่วง ฝรั่ง อนาคตคุณวิชิตบอกว่าอยากทำสวนเกษตรเชิงอนุรักษ์สายพันธุ์หม่อนและกล้วย ซึ่งตอนนี้เขาก็ปลูกกล้วยสะสมไว้แล้วกว่า 50 สายพันธุ์ รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อที่เบอร์ 080-0641835 คุณวิชิต เฟส สวนเกษตรเอ็ดดี หรือที่ เฟส Wichit Siriwarin พันธุ์หม่อนกินผลยอดนิยมหม่อนผลสดพันธุ์เชียงใหม่ เป็นพันธุ์หม่อนผลสดที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน อีกทั้งไม่มีชื่อพันธุ์มาก่อน ศูนย์หม่อนไหมแพร่และสถานีทดลองหม่อนไหมเชียงใหม่ ได้ดำเนินการสำรวจ รวบรวมพันธุ์หม่อนผลสด นำมาเปรียบเทียบผลผลิต ศึกษาวิธีการเขตกรรม ขยายพันธุ์ ตลอดจนวิธีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ วิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการและเภสัชวิทยา จนพบว่า เป็นพันธุ์หม่อนที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพดี เหมาะสำหรับบริโภคผลสดและแปรรูปในเชิงอุตสาหกรรม จึงเสนอเป็นพันธุ์หม่อนผลสดแนะนำพันธุ์เชียงใหม่ 60 ลักษณะเด่น 1. ให้ผลผลิตผลสดไม่ต่ำกว่า 1,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี 2. ผลมีขนาดใหญ่และปริมาณกรดสูง เหมาะสมสำหรับบริโภคสด และการแปรรูป 3. สามารถกำหนดเวลาให้ผลผลิตได้ ด้วยวิธีการบังคับให้ออกดอกติดผลนอกฤดูกาล 4. ขยายพันธุ์ได้ง่าย พื้นที่แนะนำ ปลูกได้ในพื้นที่ดอนของภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถ้าเป็นพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้ ในระหว่างที่ต้นหม่อนออกดอกติดผลจนถึงเก็บเกี่ยว จะทำให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น –หม่อนกำแพงแสน 42 เป็นหม่อนกินผล ที่นำต้นพันธุ์มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยเกษตรกร และทางโครงการการวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบการเกษตรในเขตชานเมืองใหญ่ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบเกษตรกรรม (DORAS Center) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำพันธุ์มาปลูกทดสอบ ณ แปลงทดลอง 2 ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อ ปี 2542 มีลักษณะเด่นคือ เป็นสายพันธุ์ที่ติดผลดกมาก ช่อผลสั้นกว่าหม่อนสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ละช่อจะมีผลย่อยใหญ่กว่าเบียดกันหนาแน่น ทำให้ช่อผลมีขนาดใหญ่เมื่อสุกมีสีม่วงแดงถึงดำ รสหวานอมเปรี้ยวถึงหวานมากเมื่อสุกเต็มที่ ไม่เพียงแต่ใช้บริโภคผลเท่านั้น แต่ยังให้ใบที่เหมาะกับการเลี้ยงไหมได้ดีอีกด้วย หม่อนจะทยอยออกดอกประมาณ 30 วัน อายุเก็บเกี่ยว ประมาณ 34-45 วัน หลังผลิดอก ฤดูเก็บเกี่ยว เดือนมีนาคม – เมษายน – ผลผลิตในฤดูกาล 1,733 กิโลกรัม/ไร่/ปี (ค่าเฉลี่ย 3–5 ปี) – ผลผลิตนอกฤดู 803 กิโลกรัม/ไร่/ปี (ปีที่ 3) มีความทนทานต่อโรคแมลงได้ดีด้วย จึงกำลังเป็นที่นิยมปลูกอยู่ในเวลานี้   Rakkaset Nungruethail  รักษ์เกษตร แหล่งที่มา : http://www.vigotech.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539821054&Ntype=8
[fbcomments url="http://54.254.250.208/en/knowledge/%e0%b8%a5%e0%b8%b9%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%9c%e0%b8%a5/" width="375" count="off" num="3" title="Comments" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save