น้อยหน่า

Sorry, this entry is only available in Thai. For the sake of viewer convenience, the content is shown below in the alternative language. You may click the link to switch the active language.

พันธุ์น้อยหน่า และน้อยหน่าลูกผสมในประเทศไทย สถานีวิจัยปากช่องเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งปลูกน้อยหน่าที่สำคัญของประเทศ ได้เริ่มโครงการรวบรวมเชื้อพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์น้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสม ในปี พ.ศ. 2548 ด้วยงบสนับสนุนการวิจัย มก. โดยการสำรวจและเก็บตัวอย่างพันธุ์ปลูกจากแหล่งปลูกทั่วประเทศ จากพันธุ์ที่ชนะเลิศจากการประกวดในแต่ละพื้นที่ พันธุ์กลายเองจากธรรมชาติที่พบในแปลงเกษตรกร และพันธุ์ที่ปรับปรุงพันธุ์ในสถานีวิจัยปากช่อง เพื่อรวบรวมเชื้อพันธุ์ดีไว้ในแปลงรวบรวมพันธุ์ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการปรับปรุงพันธุ์ และคัดเลือกสายพันธุ์ดีสำหรับส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต่อไปในอนาคต ในปัจจุบันมีสายพันธุ์น้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมจำนวนมากกว่า 100 สายพันธุ์ ปลูกไว้ในลักษณะแปลงรวบรวมพันธุ์ขนาดใหญ่ในสถานีวิจัยปากช่อง พร้อมกับจำแนกสายพันธุ์เบื้องต้น ตามลักษณะสีผิวของผล สีเนื้อ สีใบ ลักษณะของผลภายใน และภายนอกเป็นต้น แล้วแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มพันธุ์ คือ 1. น้อยหน่าพื้นเมืองหรือน้อยหน่าฝ้าย แบ่งออกได้2 สายพันธุ์ ตามลักษณะของสีผล คือ น้อยหน่าฝ้ายเขียวซึ่งมีผลสีเขียว กับน้อยหน่าฝ้ายครั่งมีผลสีม่วงเข้ม ลักษณะภายในผล เนื้อหยาบเป็นทราย ยุ่ยไม่จับตัวเป็นก้อน เนื้อมีสีขาวในน้อยหน่าฝ้ายเขียวและสีขาวอมชมพูในน้อยหน่าฝ้ายครั่ง เมื่อผลสุกเปลือกไม่ล่อนออกจากเนื้อเละง่าย มีกลิ่นหอมรสหวาน 2. น้อยหน่าหนังหรือน้อยหน่าญวน แบ่งออกได้ 3 สายพันธุ์ คือ น้อยหน่าหนังเขียวมีผลสีเขียว น้อยหน่าหนังทองเกิดจากการเพาะเมล็ดแล้วกลายพันธุ์ผลมีสีเหลืองทอง และน้อยหน่าหนังครั่งเกิดจากการเพาะเมล็ดแล้วมีการกลายพันธุ์เช่นเดียวกับหนังทองแต่มีผลสีม่วงเข้มคล้ายน้อยหน่าฝ้ายครั่ง ลักษณะภายในผล เนื้อมากเหนียวละเอียด สีขาวในน้อยหน่าหนังเขียว สีขาวอมชมพูในน้อยหน่าหนังครั่ง และสีขาวอมเหลืองในน้อยหน่าหนังทอง เมื่อผลสุกเปลือกล่อนเป็นแผ่นลอกจากเนื้อได้กลิ่นหอมรสหวาน 3. น้อยหน่าลูกผสมหรืออะติมัวย่า เป็นลูกผสมที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างน้อยหน่า (A. squamosa Linn.) กับเชริมัวย่า (A. cherimola Mill.) มีชื่อสามัญว่า atemoya ปัจจุบันสถานีวิจัยปากช่อง ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์น้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสม และได้คัดเลือกลูกผสมที่ตรงตามวัตถุประสงค์รวบรวมไว้ในแปลงฯ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ขนาดของลำต้น ขนาดใบ ขนาดผล ผิวผล และลักษณะเนื้อเป็นต้น 4. ลูกผสมอื่นๆ เป็นกลุ่มพันธุ์ที่กลายพันธุ์เองจากธรรมชาติที่พบในแปลงเกษตรกร ไม่สามารถทราบชื่อพ่อแม่พันธุ์หรือที่มาของพันธุ์ได้ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับกลุ่มน้อยหน่าลูกผสมหรืออะติมัวย่า แนวทางการผลิตน้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ได้ให้ความสนใจในการผลิตทางการเกษตรดีที่เหมาะสม GAP เป็นอย่างมาก การปฏิบัติตามข้อกำหนดของ GAP จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตและยังช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิตได้อีกด้วย พืชหลายชนิดที่มีข้อกำหนดของ GAP แล้ว เช่น มะม่วง ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะละกอ และกล้วยไม้เป็นต้น แต่ในน้อยหน่ายังไม่มีรายงานการเสนอแนวทางการผลิตตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ดังนั้นการนำเสนอในครั้งนี้จึงเป็นเพียงแนวทางการปฏิบัติ โดยการนำเอาแนวทางการปฏิบัติในการผลิตพืชคุณภาพตามระบบ GAP ของพืชอื่นๆ และจากรายงานที่มีผู้เสนอไว้มาปรับใช้ สร้างเป็นแนวทางการผลิตน้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้จริง อันที่จะส่งผลให้ได้ผลผลิตที่ได้มีทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่การทำ GAP ในพืชชนิดเดียวกันที่ปลูกต่างสถานที่ก็อาจแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมและวิธีการดูแลรักษาที่ต่างกัน การนำวิธีการในแหล่งหนึ่งไปใช้ในแหล่งปลูกอื่นจึงควรมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและการดูแลรักษาของแหล่งปลูกนั้นๆ แนวทางการผลิตน้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสมนี้ จึงเป็นแนวทางการผลิตเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพดี ตรงตามมาตรฐาน ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุน ขบวนการผลิตปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความยั่งยืนทางการเกษตร ดังมีรายละเอียดสามารถสรุปได้ดังนี้คือ 1. แหล่งปลูกและสภาพพื้นที่ปลูก น้อยหน่าชอบอากาศร้อนแห้งไม่หนาวจัด ปริมาณน้ำฝน 800 – 1,300 มิลลิเมตร/ปี อุณหภูมิ 10-40 องศาเซลเซียส มีแสงแดดจัดส่องได้ทั่วถึง พื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลไปจนถึงที่ระดับความสูง 1,000 เมตร ดินและสภาพดินปลูกมีความอุดมสมบูรณ์สูง หน้าดินลึกตั้งแต่ 40 เซนติเมตรขึ้นไปชอบดินร่วนทราย หรือดินร่วนเหนียว มีการระบายน้ำดีไม่มีน้ำท่วมขัง ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินระหว่าง 5.5 – 7.4 มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับใช้ตลอดฤดูกาลหรือในช่วงฝนทิ้งช่วงสะอาดปราศจากสารพิษปนเปื้อน 2. การเลือกพันธุ์เพาะปลูก ควรเลือกปลูกพันธุ์ที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์และตลาดต้องการเช่น น้อยหน่าควรปลูกน้อยหน่าหนังเขียวและฝ้ายเขียวที่ผ่านการคัดพันธุ์แล้ว และน้อยหน่าลูกผสมปลูกพันธุ์การค้าเช่นพันธุ์เพชรปากช่อง เพราะเจริญเติบโตได้ดีเหมาะกับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ของประเทศไทยต้นพันธุ์ที่ใช้ปลูกได้จากการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการไม่ใช้เพศเช่น การต่อกิ่งบนต้นตอน้อยหน่าเพาะเมล็ด มีความสมบูรณ์ อายุอยู่ระหว่าง 6 – 12 เดือน 3. ขึ้นตอนการการปลูก ก่อนปลูกควรนำดินไปวิเคราะห์เพื่อปรับสภาพดิน หลังจากนั้นไถตากดินทิ้งไว้อย่างน้อย 7 วัน ระยะปลูก 4 x 4 เมตรจำนวน 100 ต้น/ไร่ วิธีการปลูก ตัดยอดออกเล็กน้อยเพื่อเร่งให้แตกพุ่มใหม่และลดการคายน้ำแล้วตั้งต้นให้ตรงปักไม้ค้ำยันกลบดินให้แน่นใช้ฟาง แกลบ เศษหญ้าแห้งคลุมหน้าดินแล้วรดน้ำให้ชุ่ม ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพราะจะทำให้ต้นน้อยหน่าเจริญเติบโตและตั้งตัวได้เร็ว 4. การดูแลรักษาน้อยหน่า การให้ปุ๋ยควรใช้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยวิทยาศาสตร์ร่วมกัน การให้น้ำ ควรรักษาความชื้นในสวนให้อยู่ระหว่าง 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้การผสมเกสรติดผลสูงขึ้นให้ผลเจริญเติบโตดีเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าปกติ  ขนาดของผล จำนวนผล และคุณภาพของผลดีกว่าปล่อยให้ผสมตามธรรมชาติ มีการปลิดผลอ่อนให้เหลือผลที่สมบูรณ์ สำหรับน้อยหน่า 2 ผล/กิ่ง และน้อยหน่าลูกผสม 1 ผล/กิ่ง แล้วห่อผลก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 1 เดือนเพื่อป้องกันแมลงวันทอง 5. สุขลักษณะและความสะอาด มีการกำจัดวัชพืชอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการสะสมโรคและแมลง สะดวกต่อการเข้าไปเก็บเกี่ยว และไม่ให้เศษวัชพืชติดไปกับผลผลิต สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีควรเก็บไว้ในที่ปลอดภัย ห่างไกลจากอาหาร แหล่งน้ำ สัตว์เลี้ยงและที่อยู่อาศัยของเกษตรกร เครื่องมือและอุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงต่างๆ ควรทำความสะอาดและเก็บให้เรียบร้อยหลังใช้งาน หากพบว่าชำรุดควรซ่อมบำรุงให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ในครั้งต่อไป และกำจัดวัสดุและภาชนะบรรจุสารเคมีที่เหลือใช้อย่างถูกวิธี 6. ศัตรูและการป้องกันกำจัด แมลงและการป้องกันกำจัด  แมลงที่สำคัญคือ แมลงวันผลไม้ หนอนเจาะกิ่ง ด้วงกินใบหรือแมลงค่อมทอง ด้วงทำลายดอก หนอนผีเสื้อเจาะผล เพลี้ยแป้ง ควรหมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอโดยเฉพาะแมลงวันทองระบาดในช่วงผลแก่เริ่มสุก ถ้าหากมีการระบาดควรใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน หรือถ้าใช้สารเคมีควรเก็บผลผลิตหลังการใช้สารเคมีอย่างน้อย 30 วัน โรคและการป้องกันกำจัด โรคที่สำคัญคือ โรคกิ่งแห้ง โรคมัมมี่โรครากเน่า โรคผลเน่าดำ และโรคแอนแทรคโนส หากพบการระบาดโดยเฉพาะโรคแอนแทรคโนสฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดรา ร่วมกับการตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ลมและแสงแดดส่องได้ทั่วถึงวัชพืชและการป้องกันกำจัด วัชพืชที่สำคัญมีทั้งชนิดฤดูเดียวและชนิดข้ามปี การป้องกันกำจัด เช่นใช้จอบดาย เครื่องตัดหญ้า สารควบคุม หรือใช้ทั้งสามวิธีร่วมกัน 7. คำแนะนำการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและเหมาะสม ควรตรวจซ่อมอุปกรณ์เครื่องพ่นสารเคมีอย่าให้มีรอยรั่ว สวมเสื้อผ้าและอุปกรณ์การป้องกันอันตรายจากสารพิษ อ่านสลากคำแนะนำเพื่อทราบคุณสมบัติและการใช้สารเคมีก่อนการปฏิบัติงานทุกครั้ง ฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็นขณะลมสงบ เตรียมสารเคมีให้ใช้ให้หมดในคราวเดียวกัน ปิดฝาภาชนะบรรจุสารเคมีให้สนิทเมื่อเลิกใช้แล้วเก็บไว้ในที่มิดชิด อาบน้ำ สระผมและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีทุกครั้งหลังฉีดพ่นสารเคมีเรียบร้อยแล้ว ไม่เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ใช้จะสลายตัวถึงระดับปลอดภัย ภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้หมดแล้วทำลายโดยการฝังดินให้ลึกมากพอที่สัตว์ไม่สามารถขุดคุ้ยขึ้นมาได้และห่างจากแหล่งน้ำ และไม่ใช้เครื่องฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืช ร่วมกับสารป้องกันและกำจัดโรคและแมลง 8. การเก็บเกี่ยวน้อยหน่า ควรเลือกเก็บผลที่ได้ขนาดและอายุใกล้เคียงกัน ประมาณ 110-120  วัน  โดยใช้กรรไกรตัดขั้วผลให้ชิดกับไหล่ผล แล้วรวบรวมผลผลิตใส่ในภาชนะบรรจุที่สะอาดป้องกันการบอบช้ำ แล้วเก็บไว้ในที่ร่มอย่าให้โดนแดดก่อนการคัดแยกหรือคัดเกรด 9. การปฏิบัติการหลังการเก็บเกี่ยว คัดขนาดคุณภาพน้อยหน่าตามความต้องการของตลาด บรรจุลงภาชนะที่แข็งแรงรองด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นก่อนการบรรจุผลลงไปโดยต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเช่นอาจห่อด้วยโฟมตาข่าย การเก็บรักษาควรเก็บในอุณหภูมิระหว่าง 15-20 องศาเซลเซียส ปริมาณและออกซิเจนต่ำ คาร์บอนไดออกไซด์ 10 เปอร์เซ็นต์ และความชื้นสัมพัทธ์ 85 – 90 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บน้อยหน่าไว้ได้นานถึง 13 วัน และควรขนส่งให้ถึงมือผู้บริโภคให้เร็วที่สุด 10. การบันทึกข้อมูล ควรบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงานขั้นตอนการผลิตที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบได้หากมีข้อบกพร่องเกิดขึ้น  สามารถจัดการแก้ไขหรือปรับปรุงได้ทันท่วงที น้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสม เป็นไม้ผลที่ปรับตัวได้ดีนิยมปลูกในเขตร้อนและเขตอบอุ่นในส่วนต่างๆของโลก มีรสชาติดีนิยมบริโภคทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ พื้นที่ปลูกน้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมของประเทศไทยโดยรวมปี 2546 เท่ากับ 232,579 ไร่ ปลูกกันมากในเขตพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกที่มีชื่อเสียงและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปลูกน้อยหน่าพันธุ์หนังและพันธุ์ฝ้ายมากที่สุด ปัจจุบันน้อยหน่าลูกผสมเป็นพันธุ์ใหม่ที่เกษตรกรให้ความสนใจและปลูกกันเพิ่มมากขึ้นในทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นพันธุ์ที่ทำรายได้สูงให้กับเกษตรกรเนื่องจากให้ผลผลิตสูง ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในประเทศและส่งออกประเทศใกล้เคียงเช่น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนามและฮ่องกงเป็นต้น การปลูกน้อยหน่าในอดีต นิยมปลูกด้วย ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพของผลไม่ตรงตามพันธุ์ เช่นผลมีขนาดเล็กลง เนื้อน้อย และเมล็ดมากกว่าพันธุ์เดิม ส่งผลให้การส่งออกไปขายยังต่างประเทศมีปริมาณลดลง สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากการที่เกษตรกรขาดการใช้พันธุ์ดีที่ได้จากการคัดเลือกหรือปรับปรุงพันธุ์ รวมทั้งวิธีการขยายพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ที่มา: http://alangcity.blogspot.com/2013/01/blog-post_24.html
[fbcomments url="http://54.254.250.208/en/knowledge/%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b9%88%e0%b8%b2/" width="375" count="off" num="3" title="Comments" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save