ดินทราย ดินแน่น….เรื่องใกล้ตัว

Sorry, this entry is only available in Thai. For the sake of viewer convenience, the content is shown below in the alternative language. You may click the link to switch the active language.

ถ้ามองดินกับการปลูกพืช เรื่องที่ได้รับความสนใจเป็นลำดับแรกๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องการให้ปุ๋ย กับการให้น้ำ ซึ่งในความเป็นจริงแล้งองค์ความรู้ทางปฐพีวิทยายังมีอีกมากมาย เช่น สมบัติทางกายภาพของดินอันเป็นพื้นฐานหลักของตัวดิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเนื้อดิน โครงสร้างดิน และอื่น ๆ ซึ่งการรู้จักสมบัติของดินด้านกายภาพเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชให้ดีมากยิ่งขึ้น มารู้จักเนื้อดินและโครงสร้างดินกันก่อน                 เนื้อดิน เป็นสมบัติทางกายภาพที่แสดงถึงความหยาบและความละเอียดของดิน เนื้อดินเป็นผลรวมของอนุภาคเดี่ยวของดินทั้ง 3 กลุ่ม ในสัดส่วนต่าง ๆ ได้แก่ อนุภาคทราย (sand) อนุภาคทรายแป้ง (silt) และอนุภาคดินเหนียว (clay) ซึ่งแต่ละอนุภาคแยกออกจากกันด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของอนุภาคนั้นเอง ตามนี้
ประเภทอนุภาคเดี่ยว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง (มิลลิเมตร)
อนุภาคทราย 0.02-2.00
อนุภาคทรายแป้ง 0.002-0.02
อนุภาคดินเหนียว <0.002
  เนื้อดินแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มดินเนื้อหยาบ กลุ่มดินเนื้อปานกลาง กลุ่มดินเนื้อละเอียด ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีสมบัติเฉพาะตัวแตกต่างกัน เช่น กลุ่มดินเนื้อละเอียด มีอนุภาคดินเหนียวเป็นส่วนมาก ซึ่งมีขนาดเล็กทำให้สามารถจับตัวกันเป็นก้อนได้ดีจนถึงดีมากเกินไป มีธาตุอาหารในดินมาก ส่วนใหญ่อุ้มน้ำดี แต่ระบายน้ำไม่ดี ดังนั้น ถ้าจะใช้ดินเนื้อละเอียดปลูกพืชก็ควรเลือกชนิดของพืชที่ชอบน้ำมาก ๆ เช่น นาข้าว นาบัว เป็นต้น หรือถ้าจะใช้ดินเนื้อละเอียดปลูกพืชไร่ ก็จำเป็นต้องมีการจัดการเรื่องของการระบายน้ำให้เหมาะสมจึงจะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี โครงสร้างดิน เป็นสมบัติทางกายภาพที่อธิบายถึงการจัดเรียงตัวของอนุภาคเดี่ยวจนกลายเป็นเม็ดดิน (aggregate) ดินที่มีโครงสร้างถือว่าเป็นดินดี เนื่องจากการจัดเรียงตัวที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดช่องขนาดต่าง ๆ ภายในดินนั้น ซึ่งช่องแต่ละขนาดก็มีหน้าที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ ช่องที่มีขนาดใหญ่ (เส้นผ่าศูนย์กลาง > 50 ไมครอน) มีหน้าที่ระบายน้ำ ช่องขนาดปานกลาง (เส้นผ่านศูนย์กลาง = 0.2 – 50 ไมครอน) มีหน้าที่เก็บน้ำและพืชสามารถดูดไปใช้ และช่องขนาดเล็ก (เส้นผ่านศูนย์กลางช่อง < 0.2 ไมครอน) มีหน้าที่เก็บน้ำแต่พืชไม่สามารถดูดไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งกลุ่มดินเนื้อหยาบจะมีช่องขนาดใหญ่อยู่มาก ในขณะที่กลุ่มดินเนื้อละเอียดจะมีช่องขนาดเล็กอยู่มาก โครงสร้างดินที่ดีจะเกิดขึ้นเมื่อการจัดเรียงตัวของอนุภาคเดี่ยวนั้นมีสารเชื่อมระหว่างอนุภาคดิน เพื่อช่วยให้โครงสร้างดินที่เกิดขึ้นมีความคงทนต่อการกระแทกของฝน หรือการให้น้ำ ซึ่งสารเชื่อมที่หาได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากคือ อินทรียวัตถุ นั่นเอง เนื้อดินและโครงสร้างดินเป็นสมบัติทางกายภาพเบื้องต้นที่สังเกตเองจะช่วยให้เลือกแนวทางการจัดการดิน การปรับปรุงดินให้เหมาะสมได้มากยิ่งขึ้น แต่ในบางพื้นที่สมบัติเหล่านี้ก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการผลิตพืชก็เป็นได้ ซึ่งปัญหาทางด้านกายภาพที่ใกล้ตัวมากที่สุดปัญหาหนึ่ง ได้แก่ ดินทราย และดินแน่น ดินทราย เป็นดินเนื้อหยาบ มักจะเป็นดินที่ไม่มีโครงสร้าง ไม่มีสารเชื่อมระหว่างอนุภาคดิน ช่องในดินเป็นช่องขนาดใหญ่ จึงสามารถระบายน้ำได้ดี อุ้มน้ำได้น้อย มีธาตุอาหารต่ำ และถูกชะล้างพังทลายได้ง่าย แนวทางการปลูกพืชในดินทราย.. เราสามารถเลือกพืชให้เหมาะสมกับสภาพเนื้อดิน ได้แก่ พืชที่ต้องการน้ำน้อย ซึ่งจะทำให้การดูแลไม่ยุ่งยากและลดต้นทุนได้ สำหรับแนวทางการปรับปรุงดินทราย สามารถทำได้โดยจัดการการให้ปุ๋ยและการให้น้ำอย่างเหมาะสม นั่นคือให้ปุ๋ยเคมีตามที่พืชต้องการเพื่อให้พืชสามารถใช้งานธาตุอาหารได้ทันที และให้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร รวมทั้งเลือกวิธีการให้น้ำที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการให้น้ำแบบพ่นฝอย (prinkler irrigation) หรือการให้น้ำแบบหยด (drip irrigation) ส่วนการให้น้ำแบบทดท่วม (flooding irrigation) ไม่เหมาะสมกับดินทรายเพราะดินไม่สามารถอุ้มน้ำได้ ดังนั้นการให้น้ำแบบทดทวมจะเป็นการเปิดน้ำทิ้งผ่านดิน โดยไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลย ดินแน่น ในที่นี้รวมความถึงดินแน่น (soil compaction) หมายถึง ดินในเขตรากพืชที่มีความหนาแน่นรวม มากกว่า 1.3 g/cm3 ทำให้มีผลกระทบถึงการชอนไชของรากพืชและ ดินดาน (hard pan) หมายถึง ดินที่พบชั้นแข็งอยู่ภายในหน้าตัดดิน ทำให้รากพืชชอนไชได้ยาก อีกทั้งยังลดความเป็นประโยชน์ของน้ำใต้ดินอีกด้วย และการมีแผ่นแข็งปิดที่ผิวดิน (soil crust) หมายถึง ดินที่มีแผ่นแข็งปิดอยู่บนผิวดิน มักจะมีความหนาประมาณ 1-10 mm ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการงอกของเมล็ด และยังมีผลกระทบต่อการถ่ายเทอากาศของดิน ปัญหาเหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น 1) ดินมีอินทรียวัตถุต่ำ ทำให้ไม่มีสารเชื่อมอนุภาคดิน ดินจึงไม่มีโครงสร้างจนแน่นทึบในที่สุด 2) ดินโซดิก เป็นดินเกลือประเภทหนึ่งซึ่งมีประจุโซเดียมปริมาณมาก (Na+) จนขัดขวางการเกิดโครงสร้างดิน ทำให้ดินแน่นทึบ แนวทางการปลูกพืชในดินแน่น.. ถ้าพบว่าดินแน่นไม่ว่าจะแบบใดก็ตาม วิธีการแก้ไขเบื้องต้นคือการไถพรวน หรือ การไถระเบิดดินดาน แต่การจัดการที่ยั่งยืนที่สุดนั้น คือการทำให้ดินมีโครงสร้างที่ดีและคงทน ด้วยการเติมอินทรียวัตถุให้ดินอย่างสม่ำเสมอ การไถพรวนที่ถูกวิธี การปลูกพืชที่มีระบบรากที่ช่วยป้องกันการเกิดดินแน่น ช่วยในการยึดเกาะของเม็ดดินได้ดี เช่น หญ้าแฝก ซึ่งการจัดการเหล่านี้จะเป็นการป้องกันการเกิดดินแน่นและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่ที่เกิดดินแน่นได้เป็นอย่างดี แหล่งที่มา: เกษตรอภิรมย์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 8 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2558 หน้า 29-30
[fbcomments url="http://54.254.250.208/en/knowledge/%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%a2-%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%99%e0%b9%88%e0%b8%99/" width="375" count="off" num="3" title="Comments" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save